กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พันธกิจของกลุ่มฯ
เรามีความรับผิดชอบ และมีหน้าที่ ดูแลอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตกแต่ง ของที่ระลึก ซึ่งอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ เป็นอุตสาหกรรมเบาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความเชี่ยวชาญด้านงานฝีมือในการผลิตสินค้า เป็นอุตสาหกรรมที่แม้สร้างมูลค่าได้ไม่มากแต่กระจายรายได้อย่างสำคัญสู่กลุ่มชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ในอดีตอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อประเทศไทยมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหนักมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้จึงลดความสำคัญลง แต่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ดำรงอยู่ได้ เพราะได้รับการยอมรับในเรื่องฝีมือ ความประณีตของงาน จากความสามารถเชิงศิลปะที่มีอยู่ในสายเลือดของคนไทย
นางริดา ศรีหล่มสัก (วาระปี 2563-2565 และ 2565-2567)
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
ด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ เล็งเห็นถึงทิศทางความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่นำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ร่วมกับสินค้าและการบริการ ทั้งนี้ในส่วนของสินค้าหัตถกรรมเป็นสินค้าที่แสดงคุณค่า ภูมิปัญญา อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่สะท้อนความเป็นไทย เมื่อนำการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการออกแบบเชิงสร้างสรรค์มาร่วมกันจึงเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ที่ทันสมัยแต่ยังแฝงไว้ด้วยเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาของงานหัตถกรรมไทยแบบดั้งเดิม จึงเป็นที่มาของชื่อ ”หัตถกรรมสร้างสรรค์”
การนำทักษะงานฝีมือดั้งเดิมของไทย เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์มาร่วมกัน โดยนำคุณค่าของความเป็นไทยมาผนวกกับความเป็นสมัยใหม่สะท้อนออกมาเป็นชิ้นงานหัตถกรรม งานหัตถกรรมสร้างสรรค์จึงเป็นดั่งศิลปะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่หยุดนิ่ง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การออกแบบสมัยใหม่ หรือกระบวนการสร้างสรรค์อื่นๆ เข้ามาร่วมกับงานฝีมือแบบดั้งเดิม เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน
นางริดา ศรีหล่มสัก
บริษัท บางกอก ซีทีวี อินเตอร์เทรด จำกัด
นายศิลปะชัย วัชระ
ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (วาระปี 2559-2562)
กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถกรรมสร้างสรรค์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ดูแลอุตสาหกรรมในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตกแต่ง ของที่ระลึก ซึ่งอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ เป็นอุตสาหกรรมเบาที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และความเชี่ยวชาญด้านงานฝีมือในการผลิตสินค้า เป็นอุตสาหกรรมที่แม้สร้างมูลค่าได้ไม่มากแต่กระจายรายได้อย่างสำคัญสู่กลุ่มชุมชนในภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ ในอดีตอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อประเทศไทยมีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมหนักมากขึ้น อุตสาหกรรมนี้จึงลดความสำคัญลง แต่ก็ยังเป็นอุตสาหกรรมที่ดำรงอยู่ได้ เพราะได้รับการยอมรับในเรื่องฝีมือ ความประณีตของงาน จากความสามารถเชิงศิลปะที่มีอยู่ในสายเลือดของคนไทย
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา มีปัจจัยภายนอกที่ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสากรรมนี้อย่างมากมาย นับตั้งแต่การแข็งค่าของเงินบาท วิกฤติเศรษฐกิจโลก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบกะทันหัน ล้วนสร้างผลกระทบทางลบ จนอุตสาหกรรมนี้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก ผู้ประกอบการจำนวนมากตัดสินใจเลิกกิจการ และอีกหลายรายพยายามปรับตัวครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้รับกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญ
มาวันนี้ ผู้ประกอบการกลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ ได้ตระหนักแล้วว่า การรับจ้างผลิตหรือการเป็นสมาร์ทโออีเอ็มที่มีภูมิปัญญาของตัวเอง ไม่ใช่คำตอบของการทำธุุรกิจในปัจจุบัน เพราะต้องยอมรับว่าเราถูกกดราคาจากผู้ซื้อ ทางออกที่เป็นไปได้คือเพิ่มการทำตลาดที่เล็กลง โดยออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นคอลเลกชั่นของตัวเอง เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์และจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น โดยไม่หวังจำนวนการผลิตมากๆ แต่เนื่องจากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ล้วนเป็น SMEs การลุยเดี่ยวจีงเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ ต้องผนึกกำลังกัน ร่วมออกแบบและเสนอผลิตภัณฑ์เป็นคอลเลกชั่น ซึ่งการรวมตัวครั้งนี้ประกอบด้วยผู้ผลิตภัณฑ์จากผ้า โลหะ แก้ว ไม้ เซรามิก วัสดุธรรมชาติ ดอกไม้ประดิษฐ์ ผลิตภัณฑ์สปา และผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์อื่นๆ และการรวมตัวกันจะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ซื้อสามารถรวมส่งผลิตภัณฑ์และลดค่าใช้จ่ายในการสั่งซื้อแต่ละครั้ง เพื่อให้การทำธุรกิจสินค้าประเภทนี้ในยุคปัจจุบันเป็นไปได้ และสามารถต่อยอดได้ไปในอนาคต
นายศิลปะชัย วัชระ
บริษัท มาลามาลี จำกัด